Support
4life Immunity
0816516654
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

มารู้จักเม็ดเลือดขาวกันเถอะ

วันที่: 2010-08-20 21:45:02.0

  
 

มารู้จักเม็ดเลือดขาวกันเถอะ

เลือดของมนุษย์เรานั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนคือ

  1. เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) มีหน้าที่หลัก คือ นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำหน้าที่ได้อย่างปกติ
  2. น้ำเหลือง (Plasma) ประกอบด้วยสารต่างๆ มากมายที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
  3. เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell) เป็นปราการสำคัญที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ เพื่อไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา
  4. เกล็ดเลือด (Platelet) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เลือดแข็งตัว

ชนิดของเม็ดเลือดขาว

สามารถแบ่งลักษณะและหน้าที่การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ 5 ชนิด คือ

  1. เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีความสำคัญ พบเป็นส่วนใหญ่ในสัดส่วน 60-70% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด การตรวจนับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลสัมบูรณ์ (ANC : Absolute Neutrophil Count) มีความสำคัญมากที่จะบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  2. เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) พบในสัดส่วน 20-25% ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
  3. เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) พบเป็นส่วนน้อยในสัดส่วน 3-8%
  4. เม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิล (Eosinophil) พบเป็นส่วนน้อยในสัดส่วน 2-4%
  5. เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล (Basophil) พบน้อยที่สุดในสัดส่วน 0.5-1%
ข้อมูลจาก นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์  นิตยสารใกล้หมอ


    


ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำคืออะไร


               ภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ (Neutropenia) หมายถึง ภาวะที่จำนวนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลสัมบูรณ์น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยทั่วไปภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ มักจะหมายถึงเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลบ.มม. ถ้านิวโทรฟิลต่ำกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ถือเป็นค่าวิกฤติของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ

    

1. ไขกระดูกผิดปกติ
       -  ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดขาวได้มักเกิดจากการที่มีเซลล์ผิดปกติอื่นๆ แทรกอยู่ เช่น เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว
       -  การติดเชื้อลุกลามเข้าไปที่ไขกระดูก
       -  มีเชื้อพังผืดแทรกอยู่ในไขกระดูก
     2. ยา
       -  ยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดเกือบทั้งหมดมีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก
       -  ยาปฏิชีวนะ เช่น Mitomycin C, Cyclophosphamide
       -  ยาชนิดอื่นๆ เช่น ยากดการทำงานของต่อมไทรอยด์
     3. สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง
     4. ภาวะทุพโภชนาการ เช่น การขาดวิตามินบี 12 และการขาดโฟลิค

ยาเคมีบำบัดมีผลต่อเม็ดเลือดขาวอย่างไร


               ยาเคมีบำบัดจะกดการทำงานของไขกระดูก และทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง จนทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ (Neutropenia) ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอย่างหนึ่งของยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปมักเกิดในช่วงเวลาประมาณ 7-14 วัน หลังจากได้รับยาเคมีบำบัด
               ภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำ จะทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และยังทำให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดต้องหยุดชะงักไป ยิ่งถ้าระดับเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำลงจนน้อยกว่า 500  เซลล์/ลบ.มม. ผนวกกับช่วงระยะเวลาภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำยาวนานออกไป ยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อที่เป็นอันตรายสูงมาก จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
               ดังนั้น แพทย์ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องลดขนาดยาเคมีบำบัด หรือเลื่อนกำหนดการให้ยาแก่ผู้ป่วยออกไป จนกว่าระดับเม็ดเลือดขาวจะขึ้นมาอยู่ในภาวะปกติเสียก่อน

ทราบได้อย่างไรว่าเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ


               ในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์ผู้ดูแลจะตรวจเลือดที่เรียกว่า CBC (Complete Blood Count) การตรวจนี้จะมีการแยกนับชนิดเม็ดเลือดขาวที่สำคัญ นั่นคือ เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ค่าปกติของจำนวนนิวโทรฟิลสัมบูรณ์อยู่ระหว่าง 2,500-6,000 เซลล์/ลบ.มม. หากเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะมีจำนวนนิวโทรฟิลทั้งหมดต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลบ.มม. ยิ่งจำนวนลดต่ำมากเท่าใด ผู้ป่วยก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดภาวะติดเชื้อมากขึ้นเท่านั้น ดังตาราง

  

จำนวนนิวโทรฟิลสัมบูรณ์

(เซลล์/ลบ.มม.)

ความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อ

1,500-2,000

ไม่มีความเสี่ยง

1,000-1,500

ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

500-1,000

ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นปานกลาง

ต่ำกว่า 500

ความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก

 


อาการแสดงเมื่อเกิดภาวะติดเชื้อ

              เมื่อเิกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ป่วยต้องดูแลตนเองไม่ให้เกิดการติดเชื้อและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น และควรรีบรายงานให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้ โดยมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 อาศาเซลเซียส
  • หนาวสั่น
  • ไอ หรือเจ็บคอ
  • ถ่ายอุจจาระเหลว หรือมีอาการท้องเสีย
  • ปัสสาวะผิดปกติ หรือเจ็บลิ้น
  • เจ็บบริเวณทวารหนัก
  • ตกขาวผิดปกติ คัน มีกลิ่นเหม็น หรือสีเปลี่ยน
  • ผิวหนังมีลักษณะปวด บวม แดง หรือร้อน

               อาการต่างๆ ดังกล่าวมักเกิดขึ้นเพราะมีการติดเชื้อในผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้น จนกว่าระดับเม็ดเลือดขาวจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ และในบางครั้งก็จำเป็นต้องฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้แก่ผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวให้เป็นปกติโดยเร็ว ซึ่งเป็นการลดช่วงเวลาของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือไม่ให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

สรุป
               ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานบกพร่อง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจทำให้การรักษาต้องเลื่อนหรือหยุดชะงักไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยควรได้รับการป้องกันภาวะดังกล่าว ก่อนที่จะนำไปสู่ภาวะติดเชื้อร่วมด้วย จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

บทความโดย ผศ.นพ. นพดล  ศิริธนารัตนกุล  สาขาวิชาโลหิตวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล