Support
4life Immunity
0816516654
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) และ ยาแก้อักเสบ

วันที่: 07-10-2014view 26370reply 0

 

ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) และ ยาแก้อักเสบ

 

ผมไม่ทราบว่าต้นกำเนิดของความเข้าใจผิดนี้มันมาจากไหน แต่ที่แน่ๆมันยังคงสร้างปัญหาและความหนักใจให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์พอสมควรในประเด็นของการสื่อสารไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วย-บุคคลากรทางการแพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์-ญาติผู้ป่วย และผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วยด้วยกันเอง มีหน่วยงานหลายหน่วยงาน คลินิคหลายแห่ง และโรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้มารับบริการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่

จึงอยากแบ่งปันความเข้าใจที่ถูกต้องกันครับ โดยที่จะอ้างอิงจากรูปภาพประกอบข้างบนนี้นะครับ


1. ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะ ภาษาอังกฤษคือ antibiotics หลักๆคือมันเอาไว้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อครับ และเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบจนเป็นหนอง ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น โดยทียาฆ่าเชื้อนี้ ไม่ได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเลยแม้แต่นิดเดียวนะครับ

2. ยาแก้อักเสบ ภาษาอังกฤษคือ anti-inflammatory drug (รากศัพท์ inflammation = การอักเสบ)ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เรารู้จักกันย่อๆว่า เอ็นเสดส์ (NSAIDs: non-steroid anti-inflammatory drugs) ตัวอย่างยาพวกนี้ได้แก่ 
Ibuprofen (ชื่อการค้า Brufen , Profen)
Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren) 
Mefenamic acid (ชื่อการค้า Ponstan) ที่สาวๆมักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน
หรือดั้งเดิมที่สุดที่อยู่กับสังคมไทยคือ ทัมจัยแอสไพริน (aspirin)

ยาแก้อักเสบเหล่านี้ออกฤทธิ์แก้การอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำให้บรรเทาอาการปวด ที่ใช้กันบ่อยๆคือรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีผลข้างเคียงสำคัญคือมันกัดกระเพาะครับ ใครที่เป็นโรคกระเพาะหรือทานอาหารไม่ตรงเวลาจะเกิดปัญหาได้ ยากลุ่มนี้ฆ่าเชื้อไม่ได้ และยากลุ่ม NSAIDs นี้เอง คนไทยแพ้ยากลุ่มนี้ตัวใดตัวหนึ่งค่อนข้างเยอะเสียด้วย รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มีครับ 

 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการสื่อสารแล้วเข้าใจกันผิด?

1. ผลระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เมื่อผู้ป่วยบอกคุณหมอว่าแพ้ยา คุณหมอจะถามทันทีว่าแพ้ยาอะไร ซึ่งถ้าผู้ป่วยนำบัตรแพ้ยามาด้วยจะช่วยให้คุณหมอเบาใจเยอะครับ เพราะชื่อยาที่แพ้นั่นแหละช่วยคุณหมอได้ดีที่สุดแล้ว แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้ป่วยเองไม่ทราบ และบอกไปกว้างๆว่า "แพ้ยาแก้อักเสบ".... ตรงนี้เกิดความสับสนแล้วเห็นไหมครับ? คุณหมอต้องมาทำความเข้าใจกับผู้ป่วยว่าตกลงไอ้ที่บอกว่าแพ้ยาแก้อักเสบ มันคือแพ้ยาฆ่าเชื้อหรือแก้อักเสบกันแน่ ถ้าคุณหมอรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจะไม่ได้ถามละเอียดแล้วผลเสียจะตกอยู่ที่ผู้ป่วยเองครับ

2. เกิดทัศนคติและความเข้าใจผิดๆว่า ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบมันคืออันเดียวกัน ซึ่งปัญหานี้เกิดมานานแล้ว และยังคงมีความเข้าใจผิดกันอยู่อีกหลายท้องถิ่น สุดท้ายแล้วผู้ป่วยบางรายที่ไม่อยากมาพบคุณหมอที่โรงพยาบาลก็จะใช้ยารักษาเองแบบผิดๆ เพราะสลับกันระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ

3. เจ้าหน้าที่เภสัชกรต้องทำงานเหนื่อยมากขึ้น เมื่อคุณหมอสั่งยาแล้วผู้ป่วยจะต้องมารอเภสัชกรจ่ายยาให้ แต่ในสถานบริการหลายแห่งที่มีปริมาณผู้ป่วยมาก ก็ต้องหาผู้ช่วยเภสัชกรมาช่วยจัดยาและอธิบายผู้ป่วยว่ายาใช้ยังไง หลายครั้งที่ผู้ป่วยยังเข้าใจผิดระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบก็ไปโต้แย้งกับเภสัชกร ถ้าปริมาณผู้ป่วยไม่เยอะ เภสัชกรอาจจะมีเวลาอธิบายแก้ความเข้าใจผิดให้ แต่ถ้าปริมาณคนไข้เยอะเภสัชกรอาจจะจำเป็นต้อง เออ ออตามผู้ป่วยไปว่า "เอาล่ะๆ แก้อักเสบก็แก้อักเสบจ้ะป้า" ทั้งๆที่มันคือยาฆ่าเชื้อ แล้วสุดท้ายก็ เออ เออ กันต่อไปว่ามันคือยาตัวเดียวกัน สุดท้ายก็เข้าใจผิดกันรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ


Cr: http://knowdocth.blogspot.com/p/blog-page.html

 

All Replys: 0   Pages: 1/0